วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน Unit-Linked

บทความนี้เขียนเกี่ยวกับยูนิตลิงค์ ไว้อย่างเข้าใจง่ายลองเข้าไปดูน่ะครับ


[ซีรีย์] เจาะลึก ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน Unit-Linked


ความแตกต่างระหว่าง โครงสร้างประกันชีวิตแบบทั่วไป และแบบควบการลงทุน

ก่อนจะไปรู้จักกับประกันชีวิตควบการลงทุน (ต่อไปนี้ขอเรียกทับศัพท์ว่า “ยูนิตลิงค์” (Unit-Linked) นะครับ) ผมอยากจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ หรือโครงสร้างเบื้องหลังของการทำประกันชีวิตทั่วไปกันสักหน่อย เพื่อที่จะได้เห็นความแตกต่างของประกันชีวิตแบบทั่วไป กับแบบยูนิตลิงค์กันนะครับ
สำหรับประกันชีวิตทั่วไป (แบบตลอดชีพ, สะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ) โดยปกติแล้ว หลังจากที่เราจ่ายเบี้ยประกันไป บริษัทประกันจะแบ่งเบี้ยประกันของเราออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ส่วนที่ไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย (ค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นการทำประกันชีวิตให้เรานั่นแหละครับ) กับ 2) ส่วนที่เอาไปบริหารจัดการ โดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (ตามนโยบายบริหารของแต่ละบริษัทประกัน) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา แล้วบริษัทจะดึงเอาผลตอบแทนที่ได้ส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็น “เงินคืน” ตามสัญญาประกันชีวิตให้กับผู้เอาประกัน หรือสะสมเป็น “มูลค่าเงินสด” อยู่ในกรมธรรม์ สำหรับประกันชีวิตโดยทั่วไป ส่วนใหญ่บริษัทจะมีนโยบายลงทุนที่ไม่เสี่ยงมากนัก (เช่นลงทุนในเงินฝาก, ตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก อาจจะมีลงทุนในหุ้นบ้าง เป็นส่วนน้อย) เนื่องจากบริษัทต้องจ่ายผลตอบแทนที่เป็น เงินคืน ซึ่งมีการ “การันตีผลตอบแทน” (เป็น % ของทุนประกัน) ให้กับผู้เอาประกัน ดังนั้น บริษัทจะไปลงทุนอะไรที่เสี่ยงต่อการขาดทุนมากไม่ได้

ซึ่งสัดส่วนของเงินทั้ง 2 ส่วน คือส่วนที่ 1) กับส่วนที่ 2) นี้เองครับ ที่ทำให้เกิดประกันชีวิตแบบต่างๆ ที่มีผลตอบแทน และทุนประกันคุ้มครองชีวิตที่ได้ที่แตกต่างกัน ดังนี้
  1. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ที่เน้นการคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก ไม่มีเงินคืน ก็จะมีสัดส่วนของเงินส่วนที่ 1) มากกว่าส่วนที่ 2) (คือเบี้ยที่จ่ายไป เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยเกือบหมด ทำให้ได้ทุนประกันที่สูง และเหลือเงินไปลงทุนน้อย จึงไม่มีเงินคืน และมีมูลค่าเงินสดอยู่ในกรมธรรม์น้อย)
  2. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ จะมีสัดส่วนของเงินส่วนที่ 1) น้อยกว่าส่วนที่ 2)      (คือเบี้ยที่จ่ายไป เอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยน้อยกว่า เอาไปลงทุน ทำให้แบบประกันแบบนี้จะมีทุนประกันต่ำกว่าแบบตลอดชีพ (ณ เบี้ยประกันที่เท่ากัน) แต่ก็มีผลตอบแทนที่สูงกว่า เพราะเอาเงินไปลงทุนมากกว่า) แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็ยังถือว่าไม่สูงมากอยู่ดี(โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 1% กว่าๆ – 2% กว่าๆต่อปี)  เนื่องจากบริษัทประกันต้องรับความเสี่ยงในการลงทุนแทนคนทำประกัน และมีการการันตีเงินคืน ทำให้ต้องลงทุนในอะไรที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็เลยต่ำไปด้วย
แต่สำหรับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์แล้ว แทนที่บริษัทจะนำเงินส่วนที่ 2) ไปลงทุนแทนเรา โดยต้องลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำๆอย่างเดียว บริษัทก็จะให้เราสามารถ “เลือก” ลงทุนด้วยตัวเอง ผ่าน “กองทุนรวม” ที่บริษัทคัดสรรมาแล้ว เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่เราต้องการ ในระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปเลยครับ
ถึงจุดนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่า “แล้วมันต่างจากการไปลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปยังไง?” หรือ “แล้วทำไมต้องมาซื้อยูนิตลิงค์ ไปซื้อกองทุนรวมทั่วไป ไม่ดีกว่าเหรอ?” คำตอบก็คือ เราไม่สามารถเอายูนิตลิงค์กับกองทุนรวมมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรงครับ เพราะยูนิตลิงค์แม้จะมีการลงทุนด้วย แต่สุดท้ายหัวใจของมันก็คือการทำประกัน ที่มีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้หากดูเฉพาะแค่ผลตอบแทน มันย่อมน้อยกว่าการไปลงทุนในกองทุนรวมโดยตรงด้วยตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น จะเปรียบเทียบกันเฉพาะแต่ในแง่ของผลตอบแทนอย่างเดียวไม่ได้ครับ ต้องดูในแง่ของการคุ้มครองชีวิตด้วย เช่น สำหรับคนที่เอาเงินไปลงทุนเอง หากเสียชีวิตกะทันหัน ในช่วงที่ผลตอบแทนขาดทุนอยู่พอดี ลูกหลานก็จะได้รับมรดกเท่ากับมูลค่าการลงทุนที่กำลังขาดทุนอยู่ แต่หากเป็นยูนิตลิงค์ แม้ผู้เอาประกันจะจากไปขณะที่มูลค่าเงินสด หรือมูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์ลดต่ำลงจากผลการลงทุนที่ขาดทุน ลูกหลานหรือผู้เอาประกัน ก็จะได้รับเป็นเงินเอาประกันที่มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์(ที่กำลังขาดทุนอยู่) แน่ๆ จึงถือเป็นการทำประกันชีวิตที่มีการคุ้มครองความเสี่ยงหากเสียชีวิต ตรงนี้ด้วยที่ทำให้ต่างจากการลงทุนทั่วไปอย่างชัดเจน  
นอกจากจะสามารถให้เราเลือกบริหารการลงทุนในเงินส่วนที่ 2) เองได้แล้ว ยูนิตลิงค์ยังสามารถให้เรา “กำหนดสัดส่วน” ระหว่างความคุ้มครองตามกรมธรรม์ กับส่วนของเงินลงทุนเองได้ (กำหนดสัดส่วนระหว่างเงินส่วนที่ 1) กับ 2) ด้วยตัวเองนั่นแหละครับ) ว่าจะให้มีสัดส่วนของความคุ้มครองชีวิตหรือการลงทุนมากกว่ากัน ถ้าเราเลือกให้สัดส่วนของความคุ้มครองสูงขึ้น ก็จะทำให้เราได้ทุนประกันที่สูงขึ้น (หรือมองอีกมุมหนึ่งคือ ถ้าเราเลือก/ปรับให้ทุนประกันสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยของเราก็จะสูงขึ้น) แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้สัดส่วนของเงินที่นำไปลงทุนลดลง ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ลดลงตาม มูลค่าการลงทุนในกรมธรรม์(จากการลงทุน)ของเราก็จะโตช้าลง ดังนั้น เราสามารถปรับเพิ่ม/ลด ทุนประกัน/เงินลงทุน ตามความต้องการในแต่ละช่วงอายุเองได้ ช่วงอายุไหนที่เรามีความต้องการคุ้มครองชีวิตมาก (เช่น มีลูก หรือมีหนี้สินเพิ่ม) เราก็เลือกปรับทุนประกันสูงขึ้น หรือช่วงไหนที่เราไม่มีภาระทางการเงินแล้ว เราก็ปรับลดทุนประกันให้ต่ำลง เพื่อให้มีสัดส่วนของเงินลงทุนมากขึ้น มูลค่าเงินลงทุนการลงทุนในกรมธรรม์จะได้เพิ่มสูงขึ้น เอาไว้ถอนใช้ยามจำเป็นตามเป้าหมายทางการเงินของชีวิต (เช่น เป็นค่าเล่าเรียนลูก หรือใช้ตอนเกษียณอายุ) ที่เราต้องการได้ครับ

ประเภทของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์และความแตกต่าง
โดยส่วนใหญ่ประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์จะมีอยู่ 2 ประเภทครับ คือแบบ “จ่ายเบี้ยรายงวด” หรือ RP (Regular Premium) และแบบ “จ่ายเบี้ยครั้งเดียว” หรือ SP (Single Premium) ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้ครับ
  • ระยะเวลาจ่ายเบี้ย = RP สามารถแบ่งจ่ายเป็นรายงวดได้ และกำหนดเองได้ว่าจะจ่ายกี่ปี ขณะที่ SP จ่ายครั้งเดียวจบ
  • เบี้ยขั้นต่ำ = RP สามารถทำได้ในเบี้ยเริ่มต้นที่ต่ำกว่า SP (RP ประมาณ 1x,xxx – 2x,xxx บาทต่อปี ขณะที่ SP ประมาณ 5x,xxx – 1xx,xxx บาท แล้วแต่บริษัทกำหนด)
  • การชำระเบี้ย = RP สามารถหยุดพักจ่ายเบี้ยระหว่างทางได้ขณะที่ SP ไม่มีเนื่องจากจ่ายเบี้ยเพียงครั้งเดียว
  • การคุ้มครองชีวิต = RP สามารถเลือกวงเงินคุ้มครองหรือทุนประกัน ทั้งขั้นต่ำสุดและขั้นสูงสุด ได้สูงกว่า SP
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยส่วนของการทำประกันชีวิต = RP จะมีค่าใช้จ่ายต่อปีสูงกว่า SP

เพราะฉะนั้น อาจจะพอสรุปได้คร่าวๆว่า RP จะผลตอบแทนต่ำกว่า SP (เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า) แต่จะทำทุนประกันได้สูงกว่า RP จึงเหมาะกับการทำประกันควบการลงทุนที่เน้นการคุ้มครองชีวิตมากกว่า SP ที่เหมาะกับการทำประกันควบการลงทุนที่เน้นเรื่องของผลตอบแทนมากกว่าครับ

สรุปข้อดี / ข้อเสีย จุดเด่น / จุดด้อย ของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์
ข้อดี / จุดเด่น
  • เป็นประกันชีวิตที่มีความยืดหยุ่นสูง ต่างจากประกันชีวิตแบบดั้งเดิมทั่วไป เพราะมีอิสระสามารถเลือกเองได้ว่าอยากจ่ายเบี้ยกี่ปี (เฉพาะ RP) ต้องการการคุ้มครองกี่ปี (ขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินลงทุนการลงทุนที่คงเหลือในกรมธรรม์ด้วย) และสามารถปรับเพิ่ม / ลด ทุนประกันชีวิตได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิต
  • เลือกถอนเงินจากมูลค่าเงินลงทุนการลงทุนในกรมธรรม์เองได้ ต่างจากประกันแบบเดิมที่เป็นแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ ที่จะได้เงินจากกรมธรรม์เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับเงินจ่ายคืน ตามเงื่อนไขของแบบประกันที่ถูกกำหนดมาแล้ว
  • มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบทั่วไป เพราะสามารถเลือกบริหารการลงทุนผ่านกองทุนรวมเองได้ หากมีระยะเวลาการลงทุนนาน ก็สามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้นได้
  • สามารถเพิ่มเงินออม (Top Up) เพื่อนำมาลงทุนได้ตลอดสัญญา โดยไม่ต้องซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตเล่มใหม่

ข้อเสีย / จุดด้อย
  • ค่าใช้จ่ายในส่วนของ “ค่าการประกันภัย” (Cost of Insurance) จะปรับสูงขึ้นตามอายุ ต่างจากแบบประกันทั่วไป ที่ค่าการประกันภัยจะคงที่ (ขึ้นอยู่กับอายุตอนที่เราทำประกัน) ดังนั้น หากคนที่อายุมากๆมาทำประกันแบบยูนิตลิงค์อาจจะไม่คุ้ม เพราะอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าการประกันภัยในปีหลังๆ อาจจะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ทำให้มูลค่าเงินสดในกรมธรรม์จะค่อยๆลดลง
  • มีความไม่แน่นอนของผลตอบแทน ไม่มีการการันตีว่าจะได้เงินคืนตามเปอร์เซ็นต์ของทุนประกันเท่านั้นเท่านี้แน่ๆ เหมือนประกันแบบดั้งเดิม เพราะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ต้องเลือกลงทุนด้วยตัวเอง จึงต้องเข้าใจเรื่องของความเสี่ยงและรับความเสี่ยงให้ได้
  • มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความรู้ในการบริหารพอร์ตการลงทุน (Portfolio Management) ไม่อย่างนั้นหากลงทุนไปโดยไม่มีความรู้ ก็อาจจะเสี่ยงสูงเกินไป จนเกิดผลขาดทุนที่ทำให้มูลค่าเงินลงทุนการลงทุนในกรมธรรม์ไม่เพียงพอต่อการถูกหักไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัยได้ (สำหรับ RP หากเราหยุดจ่ายเบี้ย ระบบจะไปตัดจากมูลค่าเงินลงทุนการลงทุนในกรมธรรม์มาจ่ายเอง)

ตัวอย่างประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์
ปัจจุบันนี้มีบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งที่มีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนออกมาบ้างแล้ว ตัวอย่างของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์แบบนี้ก็เช่น “เมืองไทย ยูนิตลิงค์ 1” ทั้งแบบ RP และแบบ SP ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งก็จะมีลักษณะและรูปแบบของแบบประกันตามที่ได้อธิบายไป โดยหากเป็นแบบ RP จะสามารถเลือกจ่ายเบี้ยประกันได้ตั้งแต่ขั้นต่ำ 20,000 บาทต่อปี และสามารถเลือกทุนประกันขั้นต่ำได้ไม่ต่ำกว่า 15 เท่าของเบี้ยประกัน ขั้นสูงได้ไม่เกิน 80 เท่าของเบี้ยประกัน ส่วนแบบ SP เลือกจ่ายเบี้ยประกันได้ตั้งแต่ขั้นต่ำ 75,000 บาท สามารถเลือกทุนประกันขั้นต่ำได้ไม่ต่ำกว่า 1.25 เท่าของเบี้ยประกัน ขั้นสูงได้ไม่เกิน 12.5 เท่าของเบี้ยประกัน (ซึ่งขั้นต่ำขั้นสูงของทั้ง 2 แบบเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่อายุไม่เกิน 40 ปี เท่านั้น ยิ่งอายุมากขึ้น ก็จะยิ่งได้จำนวนเท่าน้อยลง)
ในส่วนของกองทุนรวมที่บริษัทคัดเลือกมา จะมีทั้งประเภทกองทุนรวมตราสารหนี้, กองทุนรวมแบบผสม (ตราสารหนี้ + หุ้น), กองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น), กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ (หุ้นต่างประเทศ) รวมถึงกองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก อย่างทองคำ ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนจาก บลจ. กสิกรไทย เป็นหลัก เช่น กองทุน K-CBOND (ตราสารหนี้), K-2500 (แบบผสมหุ้นไม่เกิน 20%), K-CHINA (หุ้นจีน) นอกจากนั้นก็มีกองทุนยอดนิยมจากบลจ.อเบอร์ดีน อย่างเช่น กองทุน ABSM (อเบอร์ดีสมอลแค็พ : หุ้นขนาดกลาง-เล็ก) และจากบลจ.กรุงศรี อย่างกองทุน KFSDIV (หุ้นปันผล) มาให้เลือกด้วยเช่นกัน

Credit : บทความนำมาจาก http://www.aommoney.com/